พระเวสสันดรชาดก

ภาพฝาผนัง พระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ที่กำแพงสวนธรรมะ วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม(วัดโคก) 

พระชาติที่ ๑๐

มหาเวสสันดรชาดก

พระเวสสันดร ผู้ยิ่งด้วยทานบารมี 

เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องราวในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างยิ่งยวด ในพระชาตินี้ทรงบริจาคมหาทานอันยิ่งใหญ่ มีอะไรก็ทรงสละให้ผู้อื่นได้หมด แม้กระทั่งบุตร ภรรยา การบริจาคของพระองค์เปรียบเสมือนหม้อที่คว่ำ เพื่อให้น้ำไหลออกจนหมดไม่เหลือแม้เพียงหยดเดียว นิสัยรักการให้ทานนี้

ทรงสั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกระทั่งในภพชาตินี้พระองค์ทรงบังเกิดมาเป็น ผู้บริจาคทาน ที่สร้างมหาทานบารมีนับตั้งแต่วันแรกที่ประสูติไปจนตลอดพระชนม์ชีพ การสร้างทานบารมีของพระโพธิสัตว์ในพระชาตินี้ จ 

พระเวสสันดรทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสัญชัยและพระนางผุสดีแห่งแคว้นสีพี เมื่อแรกประสูติพระกุมารทูลขอทรัพย์จากพระมารดาเพื่อให้ทานทันที ครั้นทรงเจริญวัยและได้สืบทอดราชสมบัติจากพระราชบิดา พระเวสสันดรทรงสั่งให้ตั้งโรงทานถึง ๖ แห่ง ทั่วทั้งพระนคร และทรงสละพระราชทรัพย์ ๖๐๐,๐๐๐ กหาปณะ เพื่อบริจาคทานทุกวัน กระทั่งวันหนึ่ง ทรงพระราชทานช้างเผือกมงคลปัจจัยนาคให้แก่คณะปุโรหิต จากแคว้นกาลิงครัฐ เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในแคว้นนั้น ช้างปัจจัยนาคนี้มีอานุภาพมาก สามารถบันดาลให้ฝนตก และทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ได้ ชาวเมืองสีพีไม่พอใจอย่างรุนแรง ที่ทรงพระราชทานช้างเผือกแก่แคว้นอื่น จนพระราชบิดาต้องทรงเนรเทศพระเวสสันดรออกจากแว่นแคว้น

 มหาทานอันยิ่งยวด ของพระบรมโพธิสัตว์

    พระเวสสันดรทรงขอโอกาสบริจาคทานอีกครั้งก่อนออกเดินทางโดยทรงกระทำ “สัตตสดกมหาทาน” ซึ่งเป็นการให้วัตถุทาน ๗ ชนิด ชนิดละ ๗๐๐ แก่ชาวเมืองทั้งหลาย ในวันรุ่งขึ้น ทรงพาพระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา เดินทางไปสู่เขาวงกต ระหว่างทางทรงบริจาคสิ่งของจนไม่เหลือแม้แต่รถพระที่นั่ง แต่ด้วยความช่วยเหลือของพระยาเจตราชแห่งแคว้นเจตรัฐ ทำให้ทุกพระองค์เดินทางถึงเขาวงกตอย่างปลอดภัย และได้ครองเพศนักบวชอยู่ในป่านั้น ต่อมาพระเวสสันดรทรงพระราชทาน  พระชาลีและพระกัณหาแก่พราหมณ์ชูชกและพระราชทานพระนางมัทรีแก่ท้าวสักกะที่แปลงเป็นพราหมณ์มาทูลขอ ซึ่งการบริจาคบุตรภรรยานั้นเป็นเรื่องปกติของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มุ่งจะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งเป็นการยอมเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

ผลแห่งความดี ที่ปรากฏในบั้นปลาย

    ต่อมา เทวดาดลใจให้ชูชกหลงทางมาถึงกรุงเชตุดร ทำให้พระเจ้าสัญชัยทรงไถ่ตัวพระนัดดา (หลาน) ทั้งสองไว้ได้ ขณะนั้นแคว้นกาลิงครัฐส่งช้างปัจจัยนาคกลับคืนมา ทำให้ชาวสีพีเริ่มระลึกถึงคุณความดีของพระเวสสันดร ต่อมาพระเจ้าสัญชัยทรงรับสั่งให้จัดขบวนอิสริยยศเสด็จไปเขาวงกต เพื่ออัญเชิญพระเวสสันดรกลับมา ครั้นเมื่อได้พบกัน กษัตริย์ทั้งหกและเหล่าข้าราชบริพารต่างก็หมดสติล้มลง ด้วยความรู้สึกตื้นตันอย่างสุดซึ้ง จนกระทั่งโดนหยาดฝนโบกขรพรรษา ที่ท้าวสักกะทรงเนรมิตขึ้น ทั้งหมดจึงฟื้นคืนสติ จากนั้น พระเวสสันดรเสด็จกลับไปครองราชย์ที่กรุงสีพี และทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความผาสุกจนตลอดพระชนม์ชีพ