พญาปุริสาท

พญาปุริสาท วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม(วัดโคก)

"พญาปุริสาท" คือใคร มาจากไหน

คนไทยบูชาท้าวเวสสุวรรณ ท้าวเวสสุวัณ หรือท้าวกุเวร หนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาและพุทธสถานทางทิศเหนือ และเป็นอธิบดีแห่งอสูรขจัดภูติผีปีศาจ ในตำนานทั้งตามคติพราหมณ์และพุทธกล่าวถึงท้าวเวสสุวรรณในแง่ เทพเจ้าแห่งโภคทรัพย์  อาศัยอยู่ในดินแดนมหาทรัพย์บนภูเขาไกลาส มีสระโบกขรณี มีบัวอันหอมประหลาด พรั่งพร้อมด้วยบริวารคือ เหล่ายักษ์และรากษสนับล้านตน ผู้คนจึงหันมาบูชาท้าวเวสสุวรรณเพื่อส่งเสริมตนเรื่องโชคลาภ นอกเหนือจากพุทธคุณที่ช่วยขจัดภัยให้แคล้วคลาดปลอดภัย

ด้วยความเชื่อนี้ ท้าวเวสสุวรรณจึงเป็นที่พึ่งทางใจอย่างแพร่หลาย มีการจัดสร้างรูปเคารพบูชาหลายแห่ง แต่มิได้กล่าวถึงบริวารที่เกี่ยวข้องมากนัก กระทั่งไม่กี่ปีหลังมานี้จึงเริ่มเห็นชื่อพญาปุริสาทนอกแวดวงวัตถุมงคลอย่างชัดเจน ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นผลมาจากช่วงปี 2564 อาจารย์โอเล่ ญาณสัมผัส ได้กล่าวถึงมหาอำมาตย์สำคัญของท้าวเวสสุวรรณ นั่นคือ พญาปุริสาท ผ่านการไลฟ์สดและรายการ The ghost secret ไขความลับโลกวิญญาณ ด้วยเห็นว่าคนไทยบูชาท้าวเวสสุวรรณกันมาก แต่ไม่บังเกิดผลดีต่อหลาย ๆ กรณี รวมทั้งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก พญาปุริสาท จึงให้ข้อมูลเป็นระยะเพื่อสืบสานความเชื่อตามตำนาน

              พญาปุริสาท คือบริวารเทพยักษ์กึ่งสิงห์ ซึ่งเสมือน “เลขา” หรือ “มือขวา” ของท้าวเวสสุวรรณ เป็นผู้ถือกุญแจขุมทรัพย์ ดูแลบัญชีบุญเก่ากุศลเดิมของเหล่าเวไนยสัตว์ และกินภูติผีปีศาจร้าย คนโบราณนิยมบูชาท้าวเวสสุวรรณและบูชาพญาปุริสาทด้วย เป็นเคล็ดในการบูชาหากบุญตนไม่ถึงพร้อมหรือไม่เหมาะแก่การบูชาท้าวเวสสุวรรณ ทั้งเป็นการอาศัยบริวารให้ช่วยส่งสารคำอธิฐานของตนไปถึงท่าน และเชื่อกันว่าพญาปุริสาทกินอาถรรพ์ กินภูติผีปีศาจเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงบริวารนรสิงห์ที่อยู่ในครึ่งล่างของตน ผู้บูชาจะปลอดภัยจากผีร้าย คุณไสย มนต์ดำ แก้เสนียดจัญไรในชีวิต

รูปลักษณ์องค์พญาปุริสาทตามที่มีการจัดสร้างถวายวัด ร่างกายครึ่งบนเป็นมนุษย์มีเขี้ยวดั่งยักษ์ทรงเครื่องทอ อุ้งมืออุ้งเท้าและครึ่งล่างเป็นสิงห์ ข้างหนึ่งเหยียบหีบสมบัติ อีกข้างเหยียบหัวกะโหลกข่มอาถรรพ์ 

 


เทพพิทักษ์ไล่อสูร

ยักษ์ในพุทธสถานในประเทศไทยพบเห็นได้ทั่วไปทั้งประติมากรรมและภาพจิตรกรรม ยักษ์กึ่งเทพ ยักษ์แบก ยักษ์มีปีก ตามแต่ที่มา หากระบุเฉพาะรูปลักษณ์ที่เชื่อว่าเป็น พญาปุริสาท หาพบได้น้อยในวัดภาคกลาง เล่ากันว่า พบเห็นได้มากตามวัดในภาคเหนือหรือทางล้านนาที่เชื่อมโยงกับมอญพม่ามาแต่ครั้งก่อน ทั้งในลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ขึ้นไปจนถึงมหาเจดีย์ทองคำชเวดากอง และวัดสำคัญในเมืองต่าง ๆ ที่พม่า ต่างมีปูนปั้นลักษณะคล้ายกันคือเทพกึ่งมนุษย์กึ่งสิงห์ ที่เชื่อว่าเป็นพญาปุริสาท อันเป็นสัญลักษณ์ว่าท้าวเวสสุวรรณได้ส่งบริวารมาคุ้มครองปกปักษ์รักษาวัดแห่งนั้น


จิตรกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แสดงถึงบริวารจตุโลกบาลทั้งสี่่

ในมุมประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีเรียกรูปปั้นเหล่านี้ว่า “มนุษย์กึ่งสิงห์” ที่สันนิษฐานว่าอาจมีรากความเชื่อเดียวกับสฟิงซ์ของอียิปต์ ที่สร้างไว้ในสถานที่สำคัญเพื่อปกป้องภยันตรายด้วยเช่นกัน มนุษย์กึ่งสิงห์ในพม่ามีตำนานเทพพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนาที่แตกต่างจากสิงห์เฝ้าวัดทั่วไป พบบันทึกกล่าวว่าเป็นร่างแปลงของพระอรหันต์เพื่อขับไล่ผีกินเด็กหรืออสูรร้าย คนมอญเรียก "มนุสสีหะ" รูปลักษณะมีลำตัวเป็นสิงห์ มีหัวเป็นมนุษย์สวมชฎา คนมอญโบราณใช้ใบลานทำสัญลักษณ์มนุษย์สีหะแขวนบนเปลทารกที่เกิดใหม่ สอดคล้องกับความเชื่อคนไทยที่มียันต์ “แม่ซื้อ”เป็นภูตประจำตัวเด็ก หรือมียันต์ท้าวเวสสุวรรณ ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย  

ภาพ มนุสสีหะ ในวัดพม่า 

แม้ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า พญาปุริสาท คือตนเดียวกับมนุสสีหะ หรือตรงกับประติมากรรมในพุทธศาสนาที่สร้างในรุ่นหลังนี้หรือไม่ แต่หากตำนานความเชื่อที่เล่าขานนำสู่กุศลหนทางสว่าง ย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้มีความศรัทธาทั้งสิ้น



คาถาบูชาพญาปุริสาท

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง
อาราธนานัง โอม ปุริสาท
เทวะ อมาตยักขา
อนุรักข้นตุ ยักขะเทวามหา
ลาโภ มหาอิทธิโย มหาปัญโญ
ประสิทธิเมโอมตะถานุ เสวะ
กะนัง สัพเคราะห์ สัพโศก
สัพภัย วินาศสันตุ